ขณะนี้ตะกร้าสินค้าของคุณว่างเปล่า

3 สัญญาณเตือน .. ฮอร์โมนเพศหญิงเปลี่ยนแปลง
คุณผู้หญิงหลายคนอาจเคยสังเกตว่า บางครั้งร่างกายมีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ เหงื่อออกมากผิดปกติ หรือ อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภายในร่างกายของคุณอาจมีการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย สามารถนำไปสู่อาการ และพฤติกรรมหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณผู้หญิง บทความนี้จึงรวบรวม 3 สัญญาณเตือน ที่สอดคล้องกับฮอร์โมนเพศหญิงที่เปลี่ยนแปลง มาแชร์ให้คุณผู้หญิงได้ทราบกัน เพื่อจะได้สังเกตและรับมือกับอาการเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง

1. ประจำเดือนมาไม่ปกติ / ไม่สม่ำเสมอ
ปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติอาจเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในผู้หญิงหลายคน แม้บางครั้งมักจะถูกมองข้ามไป เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบช่วงเวลาที่มีประจำเดือน เนื่องจากคิดว่าไม่ค่อยสะดวกในการใช้ชีวิต แต่จริง ๆ แล้วการมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอ ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกสุขภาพที่ดีของผู้หญิง โดยปกติแล้วรอบเดือนจะมาทุก ๆ 21-35 วัน หากเกินกว่านี้ หรือมีรอบที่ห่างกันมากกว่า 35 วัน ก็ถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผันผวนของระดับฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
นอกจากนี้ ระยะเวลาการมีประจำเดือนที่นานผิดปกติ เช่น มีประจำเดือนนานกว่า 7 วันขึ้นไป ปริมาณเลือดที่ออกมามากเกินไปจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยมาก ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้น หากสังเกตว่าประจำเดือนของตัวเองมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีลักษณะผิดปกติไปจากเดิมเป็นระยะเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัด เพื่อจะได้รักษาได้ตรงจุด

2. ร้อนวูบวาบ / เหงื่อออกในเวลากลางคืน นอนไม่หลับ
อีกสัญญาณหนึ่งของฮอร์โมนเพศหญิงเปลี่ยนแปลงคือ ภาวะร้อนวูบวาบ (Hot Flashes) ร่วมกับเหงื่อออกในเวลากลางคืน จนทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขับเหงื่อออกทางผิวหนังมากผิดปกติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติไป สาเหตุของอาการเหล่านี้ มักเกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมักพบได้บ่อยในช่วงวัยทอง (Menopause) หรือช่วงก่อนวัยทอง (Perimenopause) จากการที่รังไข่ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลงนั่นเอง
นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome – PCOS) ซึ่งมีความผิดปกติของฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ หรือ ฮอร์โมนเพศหญิงต่ำกว่าปกติ ก็อาจมีอาการร้อนวูบวาบ หรือเหงื่อออกมากได้เช่นกัน หากมีอาการเหล่านี้บ่อย ๆ จนรบกวนการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยปัญหาที่ต้นเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม เช่น การให้ฮอร์โมนทดแทน หรือยาปรับสมดุลฮอร์โมน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

3. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย / ไม่ค่อยมีสมาธิหรือวิตกกังวล
ผู้หญิงหลายคนอาจสังเกตว่า บางช่วงของเดือนอารมณ์จะแปรปรวนง่าย หงุดหงิดฉุนเฉียวกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการวิตกกังวล หรือไม่ค่อยมีสมาธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิงฮอร์โมนเพศหญิงมีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น เซโรโทนิน และโดปามีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความเครียด และการนอนหลับ
เมื่อระดับฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล จึงทำให้ระบบสารสื่อประสาทในสมองแปรปรวนตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดอาการหงุดหงิด อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ควบคุมอารมณ์ได้ยาก หรือมีอาการวิตกกังวลง่าย สมาธิไม่ค่อยดี ตัวอย่างที่พบได้บ่อย เช่น ผู้หญิงที่มีภาวะก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome – PMS) มักมีอาการอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิงในรอบเดือนนั่นเอง หากเกิดอารมณ์แปรปรวนเพียงเล็กน้อย อาจไม่ถือว่าเป็นอันตราย แต่ถ้าแปรปรวนอย่างหนัก จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจเป็นความผิดปกติที่ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดต่อไป
ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายของผู้หญิงในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การเจริญเติบโต ระบบสืบพันธุ์ การมีประจำเดือน ไปจนถึงสภาวะอารมณ์และจิตใจ ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณเตือนว่าฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีความผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือมีอารมณ์แปรปรวนรุนแรง ก็ควรให้ความใส่ใจ และไม่ควรละเลย
การไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กระดับฮอร์โมนอย่างละเอียด จะทำให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง และสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ฮอร์โมนกลับมาสมดุล ร่างกายแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง Junyworlds พร้อมเคียงข้างคุณในการสร้างสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ได้ระดับหนึ่ง